วันพุธที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2557

รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 30 เมษายน 2557

1. ธนาคารไทยพาณิชย์ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 1.6 จากร้อยละ 2.4
2. โตโยต้าเผยยอดจำหน่ายรวมรถทุกประเภทเดือนมี.ค. 57 ลดลงร้อยละ 46.7
3. ธนาคารกลางยุโรป(ECB) ชี้ การเงินยุโรปมีเสถียรภาพมากขึ้น
1. ธนาคารไทยพาณิชย์ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 57 ขยายตัวร้อยละ 1.6 จากร้อยละ 2.4
- ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 57 จะอยู่ที่ร้อยละ 1.6 จากประมาณการเดิมไว้ก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.4 เนื่องจากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่มีความยืดเยื้อส่งผลให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น อย่างไรก็ตามก็เชื่อว่าไทยน่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในปีนี้ และแม้จะมีการจัดตั้งรัฐบาลได้ทันก็จะส่งผลกระทบไปถึงปีหน้า และหากความรุนแรงทางการเมืองยังอยู่ในระดับนี้ต่อไปก็ถือว่าเศรษฐกิจได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยไตรมาสแรกติดลบอยู่ที่ร้อยละ 0.3
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอตัวลงจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการผ่านการใช้จ่ายภาคเอกชนทั้งในด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอลง สะท้อนได้จากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 57 จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ หดตัวร้อยละ -0.2 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวร้อยละ -5.9 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) หดตัวร้อยละ -7.0 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า GDP ปี 57 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 ต่อปี โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชน ณ ราคาคงที่จะขยายตัวได้ร้อยละ 2.3 การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.9 และปริมาณส่งออกสินค้าและบริการจะขยายตัวร้อยละ 4.4
2. โตโยต้าเผยยอดจำหน่ายรวมรถทุกประเภทเดือนมี.ค. 57 ลดลงร้อยละ 46.7
- บริษัท โตโยต้า ประเทศไทย จำกัด พบว่า รายงานยอดการจำหน่ายรวมรถทุกประเภทในเดือน มี.ค. 57 อยู่ที่ 83,983 คัน หรือหดตัวร้อยละ -46.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐานสูงจากโครงการรถยนต์คันแรกของรัฐบาล และกำลังซื้อของประชาชนที่ลดต่ำลงจากปัจจัยการเมืองในประเทศ ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยยังคงเป้าหมายการผลิตรถยนต์ทั้งปี 57 ที่ 2.45 ล้านคัน และวางเป้าหมายของยอดจำหน่ายในประเทศไว้ที่ 1.2 ล้านคัน
- สศค.วิเคราะห์ว่า ยอดการจำหน่ายรวมรถทุกประเภทใน 57 มีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจากอุปสงค์ที่ได้รับการตอบสนองไปแล้วจากนโยบายโครงการรถยนต์คันแรกของรัฐบาลในช่วงกลางปี 56 ประกอบกับปัญหาการเมืองภายในประเทศที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังในการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าประเภทคงทน อาทิ รถยนต์เป็นต้น สะท้อนจากยอดขายรถยนต์และรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนมี.ค. 57 ที่หดต่อเนื่องที่ร้อยละ -55.8  และร้อยละ -37.5 จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ-54.2 และร้อยละ-35.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ
3. ธนาคารกลางยุโรป(ECB) ชี้ การเงินยุโรปมีเสถียรภาพมากขึ้น
- รองประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) กล่าวว่า เสถียรภาพทางการเงินในยูโรโซนปรับตัวดีขึ้น แต่วิกฤตการเงินยังไม่สิ้นสุดลง แสดงให้เห็นว่า การเงินยุโรปมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง แม้เส้นทางไปสู่ความมีเสถียรภาพทางการเงินจะไม่ราบรื่นนัก แต่เชื่อว่านโยบายที่มีความรอบคอบในเชิงมหภาค จะมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับยูโรโซน
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลล่าสุด อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยูโรโซน มี.ค.57 อยู่ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี จากในเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 0.7 ต่อปี ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย มี.ค. 57 อยู่ที่ร้อยละ 0.25 ต่อปี สะท้อนให้เห็นถึงเสถียรภาพทางการเงินในยูโรโซนที่ปรับตัวดีขึ้น อันเป็นปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซน อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงทางด้านเสถียรภาพทางการเงินยูโรโซนที่สำคัญ 4 ประการ อันได้แก่ 1) การที่ประสิทธิภาพการทำกำไรของธนาคารร่วงลงต่อไป โดยมีส่วนเกี่ยว ข้องกับการลดลงของสินเชื่อ และเศรษฐกิจมหภาคที่อ่อนแอ 2) ภาวะตึงเครียดในตลาดพันธบัตรรัฐบาล โดยเป็นผลมาจากอัตราการ เติบโตทางเศรษฐกิจที่ระดับต่ำ และจากความเชื่องช้าของรัฐบาลในการดำเนินการปฏิรูป 3) ธนาคารพาณิชย์ประสบความยากลำบากในการระดมทุนในประเทศ ที่ได้รับแรงกดดัน 4) ค่าพรีเมียมความเสี่ยงในตลาดโลกได้รับการประเมินใหม่ หลังจาก นักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์ปลอดภัยเป็นเวลานาน และแสวงหาการลงทุนที่ให้ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 57 ว่า เศรษฐกิจยูโรโซนใน ปี 57 จะขยายตัวร้อยละ 0.8 ต่อปี


ที่มา : ข่าวเศรษฐกิจ กระทรวงการคลัง -- พุธที่ 30 เมษายน 2557 12:20:44 น.
Macro Morning Focus ประจำวันที่ 30 เมษายน 2557 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น